วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

จูล่ง จูล่งคือฉายา ส่วนชื่อจริงชื่อเตียวหยุน (เจ้าอหวิน) - Zhao yun - 趙雲




จูล่ง (จีนตัวเต็ม: 子龍; จีนตัวย่อ: 子龙; พินอิน: Zǐlóng) มีชื่อจริงคือ เตียวหยุน (จีนตัวเต็ม: 趙雲; จีนตัวย่อ: 赵云; พินอิน: Zhào Yún) เป็นแม่ทัพคนสำคัญของเล่าปี่ ในยุคสามก๊กของประเทศจีน และเป็น 1 ใน 5 ขุนพลทหารเสือของเล่าปี่ ในวรรณกรรมสามก๊ก



จูล่ง ได้รับฉายาว่าเป็น "สุภาพบุรุษจากเสียงสัน" เกิดในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ที่อำเภอเจินติ้ง เมืองเสียงสัน มีแซ่เตียว (จาง) แต่ไม่มีใครเรียกว่า เตียวจูล่ง สูงประมาณ 6 ศอก (1.89 เมตร) หน้าผากกว้างดั่งเสือ ตาโต คิ้วดก กรามใหญ่กว้างบ่งบอกถึงนิสัยซื่อสัตย์ สุภาพเรียบร้อย น้ำใจกล้าหาญ สวมเกราะสีเงิน ใช้ทวนยาวเป็นอาวุธ พาหนะคู่ใจ คือ ม้าสีขาว คอยติดตามเล่าปี่ และขงเบ้ง จูล่งเป็น 1 ใน 5 ขุนพลทหารเสือที่ เล่าปี่แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย จูล่ง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว และฮองตง



จูล่งเดิมเดิมเป็นชาวเมืองเสียงสัน ต่อมาได้มาเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนเสี้ยวหยาบช้า ไร้น้ำใจ จูล่งจึงหนีไปอยู่กับกองซุนจ้านเจ้าเมืองปักเพ้ง โดยที่ขณะนั้นกองซุนจ้านได้ทำศึกกับอ้วนเสี้ยว จูล่งยังได้ช่วยชีวิตกองซุนจ้านไว้แล้วสู้กับบุนทิวถึง 60 เพลง จนบุนทิวหนีไป ต่อมาจูล่งได้มีโอกาสรู้จักกับเล่าปี่ ทั้งสองต่างเลื่อมใสซึ่งกันและกัน




เมื่อกองซุนจ้านฆ่าตัวตายเพราะแพ้อ้วนเสี้ยว จูล่งจึงได้ร่อนเร่พเนจรจนมาถึงเขาโงจิวสัน ซึ่งมีโจรป่ากลุ่มหนึ่งมีหุยง่วนเสียวเป็นหัวหน้า หุยง่วนเสียวคิดชิงม้าจากจูล่ง จูล่งจึงฆ่าหุยง่วนเสียวตายแล้วได้เป็นหัวหน้าโจรป่าแทน ต่อมากวนอูได้ใช้ให้จิวฉองมาตามหุยง่วนเสียวและโจรป่าไปช่วยรบ จิวฉองเมื่อเห็นจูล่งคุมโจรป่าจึงคิดว่าจูล่งคิดร้ายฆ่าหุยง่วนเสียว จิวฉองจึงตะบันม้าเข้ารบกับจูล่ง ปรากฏว่าจิวฉองต้องกลับไปหากวนอูในสภาพเลือดโทรมกาย ถูกแทงถึง 3 แผล (สำนวนสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ) จิวฉองเล่าว่าคนผู้นี้มีฝีมือระดับลิโป้) ดังนั้นกวนอูกับเล่าปี่จึงต้องรุดไปดูด้วยตนเอง แต่เมื่อได้พบกันจูล่งก็เล่าความจริงทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาจูล่งก็ได้เป็นทหารเอกของเล่าปี่



จูล่งสร้างวีรกรรมครั้งสำคัญคือ ฝ่าทัพรับอาเต๊า บุตรชายของเล่าปี่ที่เกิดจากนางกำฮูหยิน ซึ่งพลัดหลงกับเล่าปี่ที่ทุ่งเตียงบันโบ๋ จูล่งทำการครั้งนี้เพียงคนเดียว ท่ามกลางทหารและองครักษ์มากมายของโจโฉที่ยกทัพลงทางใต้หวังรวบรวมแผ่นดิน และได้ฆ่าทหารเอกและทหารเลว ของโจโฉมากมาย ตั้งแต่ 03.00 น. จนถึง 15.00 น. ของอีกวัน และบุกไปชิงตัวอาเต๊าคืนมาจากซุนฮูหยิน




ที่ต้องกลของซุนกวนหวังจะดึงไปเป็นตัวประกันที่ง่อก๊ก เป็นผู้ที่ติดตามเล่าปี่ตลอด แม้จะไม่ได้สาบานเป็นพี่น้องกันเหมือน กวนอูและเตียวหุย แต่จูล่งก็เรียกกวนอูและเตียวหุยว่า "พี่สองและพี่สาม" แต่กับเล่าปี่ จูล่งจะเรียกว่า "นายท่าน" ตอนที่เล่าปี่จะสิ้นใจในเรียก ขงเบ้งเข้าพบ เเละเรียกจูล่ง ทรงตรัสด้วยคำพูดว่า " ท่านกับเรานั้นต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา เเต่มาบัดนี้ ชะตากรรมกำลังพรากเราสอง ขอให้ท่านนึกถึงนำใจเก่าก่อนช่วยเหลือบุตรเราเเละท่านขงเบ้ง ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นอัญเชิญราชวงศ์ฮั่นกลับสู่ราชธานีลกเอี๋ยงด้วย "


และหลังจากที่เล่าปี่เสียชีวิตลง จูล่งกลายเป็นเป็นทหารเอกของขงเบ้ง เมื่อยามศึกยังสู้แม้ตัวเองแก่แล้ว มีครั้งหนึ่ง ก่อนรบศึกกับฝ่ายวุยก็ก ช่วงนั้นขงเบ้งเลือกทหารให้ไปรบ แต่กลับไม่เลือกจูล่ง เพราะขงเบ้งว่าจูล่งแก่แล้ว แต่จูล่งกลับแย้งขี้นมา




จูล่งเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 229 หลังจากที่จูล่งตาย ขงเบ้งได้รำพันออกมาว่า "แขนซ้ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนขาดแล้ว" และเป็นลมสิ้นสติไปด้วยความเสียใจ



ตัวละคร จูล่ง มักเป็นตัวละครที่ผู้อ่านสามก๊กชาวไทยมักจะตอบว่า ชอบที่สุดในบรรดาตัวละครทั้งหมดในเรื่อง เนื่องจากเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ทำการโดยไม่เห็นแก่ลาภยศ

เตียวหุย (จางเฟย) - Zhang Fei - 張飛



เตียวหุย (อังกฤษ: Zhang Fei จีน: 張飛 พินอิน: Zhāng Fēi) (ค.ศ. 168-ค.ศ. 221) เป็นแม่ทัพในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มีชื่อรองว่า เตียวเอ็กเต้ ในภาษาจีนกลางเรียก จังเฟย

เป็นน้องร่วมสาบานคนสุดท้องของเล่าปี่และกวนอู โดยการสาบานที่สวนดอกท้อนั้น กระทำขึ้นที่หลังบ้านของเตียวหุยเอง และเป็นเตียวหุยที่ออกทุนทรัพย์ในการรวบรวมผู้คนเป็นครั้งแรกของทั้ง 3
มีนิสัยวู่วามอารมณ์ร้อน ชอบดื่มสุราจนเมามายแล้วเฆี่ยนตีทหารบ่อย ๆ ศีรษะโตเหมือนเสือ หน้าสีดำ ตาพองโต เสียงดังปานฟ้าผ่า กิริยาดั่งม้าควบ เป็นผู้มีพละกำลังมาก อาวุธประจำตัวคือทวนยาว 8 ศอก หนัก 80 ชั่งจีน บางตำราเรียกว่า ทวนยาวอสรพิษ ตัวคมทวนขดไปมาเป็นคลื่นคล้ายงู ปลายคมเป็นรูปจันทรเสี้ยว อาชีพเดิมคือคนขายหมู ต่อมาได้ติดตามเล่าปี่เพื่อปราบโจรกบฏผ้าเหลือง และก็ได้ร่วบรบกับเล่าปี่มาตลอด ภายหลังตายขณะยกทัพไปหมายจะล้างแค้นให้กวนอู เพราะถูกลอบฆ่าตัดหัว เนื่องจากนิสัยวู่วามของตนเอง

ภายนอกเตียวหุยอาจดูเป็นคนหยาบช้า อารมณ์ร้อนไม่มีสติปัญญา แต่แท้ที่จริงแล้วเตียวหุยเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์มาก เป็นคนตรงไปตรงมา นับถือคุณธรรม และเป็นผู้ที่มีสติปัญญาในการวางอุบายรบด้วย ดั่งจะเห็นได้จากหลายตอน เช่น เมื่อครั้งที่เล่าปี่อพยพครอบครัวและชาวเมืองจากเมืองซินเอี๋ยหนีการตามล่าของโจโฉ เตียวหุยเป็นผู้ใช้อุบายใช้กิ่งไม้ผูกหางม้า แล้วให้ทหารวิ่งไปมาในป่าหลังสะพานเตียงปันให้ฝุ่นตลบ เพื่อลวงทหารโจโฉว่ามีกองกำลังซุ่มในป่าจำนวนมาก และอีกครั้งที่แสร้งทำเป็นเมามายเพื่อลวงเงียมหงัน จนในที่สุดก็เอาชนะเงียมหงันได้ ทั้งที่มีชัยภูมิเสียเปรียบกว่า เป็นต้น

กวนอู (กวนหวี่) - Guan Yu - 關羽


กวนอู (Guan Yu, 关羽, พินอิน:Guān Yǔ) มีชื่อรองว่า หยุนฉาง (ค.ศ. 160 - ค.ศ. 219) น้องร่วมสาบานคนรองของเล่าปี่ และเตียวหุย

หน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก จักษุเรียวงามคล้ายนกการเวก คิ้วโก่งดั่งตัวหนอนไหม หนวดเคราสีดำงามยาวละเอียด มีง้าวมังกรเขียวยาว 8 ศอก หนัก 82 ชั่งจีน เป็นอาวุธคู่กาย ร่วมต่อสู้กับเล่าปี่ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาสู้ด้วยความจงรักภักดี คุณธรรม และความกล้าหาญ ถึงจะพ่ายแพ้ศึก และยอมเป็นข้ารับใช้โจโฉ แต่ใจก็ยังคงภักดีต่อเล่าปี่เพียงผู้เดียว สร้างชื่อเสียงลือไกล ด้วยการสังหาร ฮัวหยงแม่ทัพของตั๋งโต๊ะ โดยที่สุรายังอุ่น ๆ อยู่ เอาชนะงันเหลียง และบุนทิว 2 แม่ทัพของอ้วนเสี้ยว ฝ่า 5 ด่าน สังหาร 6 แม่ทัพของโจโฉ และยังครองใจผู้คน ไม่ว่าเลียวฮัว และจิวฉอง รวมถึงเตียวเลี้ยวแม่ทัพของโจโฉ และฮองตง ที่แม้เคยเป็นศัตรู แต่ก็ครองใจได้ ขี่ม้าเซ็กเธาว์อาชาชั้นยอดของลิโป้ ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋ว อยู่ร่วมกับ กวนเป๋งบุตรบุญธรรม กับจิวฉอง ภายหลังถูก แผนกลยุทธ์ของลกซุน และลิบองฆ่าตาย แต่ถึงจะตายไป ก็ยังทำให้ลิบองตายตามไปด้วย หลังจากตายไป ได้ถูกยกย่องว่า เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ชึ่งภาษาจีนกลางเรียก กวนอี่ว์

กวนอู มีร่างกายกำยำ สูง 6 ศอก หนวดยาว 1 ศอก หน้าแดงก่ำ มีอาวุธคือง้าวมังกรเขียวหนัก 82 ชั่ง แต่เดิมเป็นคนขายถั่วชาวไกเหลียง ไม่มีที่อยู่แน่ชัดเนื่องจากเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ต่อมาพบกับเศรษฐีคนหนึ่งรังแกชาวบ้านจึงฆ่าเศรษฐีคนนั้นตาย ชาวเมืองไกเหลียงจึงยกย่องกวนอู แต่ทางการกลับประกาศจับกวนอู จนกวนอูต้องหลบหนีออกจากเมืองไกเหลียง ระหว่างผ่านด่านนอกเมืองได้ไปล้างหน้า เทพเจ้าได้ดลบันดาลให้หน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง จนนายด่านจำไม่ได้ จึงผ่านออกมาได้ จนได้มาพบเล่าปี่และเตียวหุยที่ตุ้นก้วน ทั้งสามจึงสาบานเป็นพี่น้องกัน

ต่อมากวนอูได้ร่วมรบกับเล่าปี่ปราบโจรโพกผ้าเหลืองจนราบคาบ แต่เล่าปี่กลับได้เป็นแค่นายอำเภออันห้อก้วน ส่วนน้องทั้งสองก็ไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ ยังเป็นเพียงคนสนิทของเล่าปี่เหมือนเดิม ต่อมามีเจ้าเมืองชื่อต๊กอิ้วมาตรวจราชการอำเภออันห้อก้วน เล่าปี่ไม่มีสินบนให้จึงถูกต๊กอิ้วเขียนฎีกาถวายฮ้องเต้ว่าเล่าปี่กบฏ เตียวหุยโกรธจัดจึงเฆี่ยนต๊กอิ้ว เล่าปี่เห็นท่าไม่ดีจึงหนีออกมาพร้อมกับน้องทั้งสอง ต่อมาทั้งสามก็ได้ระหกระเหินเร่ร่อน กวนอูนั้นก็สร้างวีรกรรมมากมายทั้งการบุกเดี่ยวหนีออกมาจากโจโฉมาหาเล่าปี่ทั้ง ๆ ที่โจโฉพยายามทำทุกวิถีทางที่จะมัดใจกวนอู แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ฆ่าฮัวหยง งันเหลียง บุนทิวในเพลงเดียว ไว้ชีวิตโจโฉหลังแพ้ศึกเซ็กเพ็กทั้ง ๆ ที่ได้ทำทัณฑ์บนไว้กับขงเบ้งว่าถ้าปล่อยให้โจโฉรอดไปจะต้องถูกประหาร บุกเดี่ยวข้ามฟากไปยังกังตั๋งเพื่อกินเลี้ยงตามแผนของโลซก แต่ผ่ายโลซกไม่อาจทำอะไรได้ เป็นต้น

จนเมื่อเล่าปี่ได้ครองเสฉวน เล่าปี่จึงแต่งตั้งให้กวนอูเป็น 1 ใน ห้าทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก และได้ครองเมืองเกงจิ๋ว ต่อมาซุนกวนจับมือกับโจโฉบุกเกงจิ๋ว กวนอูถูกลิบองแม่ทัพแห่งง่อก๊กจับตัวไป กวนอูไม่ยอมสวามิภักดิ์ จึงถูกซุนกวนสั่งประหารพร้อมกับกวนเป๋งบุตรบุณธรรม ต่อมากวนอูจึงถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ มีผู้คนนับถือมากมายจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังจากที่กวนอูตายไปแล้ว ซุนกวนได้ส่งศีรษะกวนอูไปให้โจโฉ เพื่อป้ายความผิดไปยังโจโฉ โจโฉเมื่อเปิดหีบดูศีรษะของกวนอูแล้ว พูดอย่างเยาะเย้ยว่า "กวนอู ท่านสบายดีหรือ ตอนท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านไม่เคยมาหาข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าจะรั้งตัวท่านไว้ ท่านก็ไม่ยอมอยู่ แต่บัดนี้ท่านตายแล้วกลับมาหาข้าพเจ้า" พลันหัวของกวนอูก็ลืมตาขึ้น โจโฉตกใจมาก ระล่ำระลักว่า กวนอูนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก จึงให้ตั้งศาลบูชาเซ่นสรวงกวนอูที่นอกเมืองลกเอี๋ยง และหลังจากนั้นโจโฉก็มักปวดศีรษะและเห็นภาพหลอนอยู่บ่อย ๆ ก่อนที่จะเสียชีวิตไม่นาน

ซึ่งก่อนหน้านั้น ลิบองผู้ที่สามารถจับตัวกวนอูได้ ในงานเลี้ยงที่ฉลองชัยชนะที่มีต่อกวนอู จู่ ๆ ลิบองก็ลุกขึ้นมาชี้หน้าด่าซุนกวนด้วยเสียงอันดังที่ผิดแผกออกไปจากเสียงปกติ แล้วจึงล้มลงสิ้นชีวิตทันที ซุนกวนถึงกับกลัวลนลาน ทั้งหมดนี้เชื่อว่า เป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ดวงวิญญาณของกวนอู

ขงเบ้ง (จูเก่อเลี่ยง ฉายา ข่งหมิง) - Zhuge Liang (Kong Ming) - 諸葛亮 (孔明)




ขงเบ้ง (ภาษาจีนกลาง : ขงหมิง) หรือ จูกัดเหลียง (จูเก๋อเลี่ยง) (ค.ศ. 181234) เป็นนักการเมืองสมัยปลายราชวงศ์ฮั่น ของจีน หรือสมัยหลังราชวงศ์ฮั่นหากหากว่าตามประวัติศาสตร์ ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาด้านการยุทธนาการของพระเจ้าเล่าปี่ มีตำแหน่งอัครเสนาบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งรัฐจ๊ก กับทั้งยังเป็นนักการเมือง นักการทูต วิศวกร นักวิชาการ และได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ โดยเป็นผู้คิดค้นหมั่นโถว ธนูไฟ โคมลอย และระบบชลประทาน

ชื่อแต่เกิดคือ — จูกัดเหลียง (หรือ จูเก๋อเลี่ยง)(จีนตัวเต็ม: 諸葛亮, จีนตัวย่อ: 诸葛亮, พินอิน: Zhūge Liàng) ชื่อว่า Liàng และนามสกุล Zhūge
ชื่อที่ผู้อื่นเรียกด้วยความเคารพ — ขงเบ้ง (孔明, พินอิน: Kǒngmíng)
นอกจากนี้ยังมีฉายาอื่น เช่น มังกรหลับ (臥龍先生) หรือ (伏龍)


ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งถูกยกย่องว่าหยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ได้รับฉายาจากบังเต็กกงว่า "ฮกหลง" หมายถึง มังกรซุ่ม หรือ มังกรหลับ จากคำแนะนำของชีซีทำให้เล่าปี่ต้องมาเชิญด้วยตัวเองถึงสามครั้งสามครา มีความรู้เป็นเลิศ รับใช้ราชวงศ์เล่าถึง 2 ชั่วอายุคน ภายหลังเล่าปี่ตาย ได้ฝากฝัง เล่าเสี้ยน ให้ดูแลแต่ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะพระเจ้าเล่าเสี้ยนหูเบา เชื่อแต่คำยุยงของขันทีฮุยโฮ ยกทัพไปปราบปรามชาวม่าน และได้สู้รบกับวุยก๊กหลายครั้ง


ขงเบ้ง (Zhuge Liang -(Kong Ming)) (ค.ศ. 181-234) มีชื่อจริงว่า จูเก๋อเหลียง โดยขงเบ้งเป็นชื่อรอง เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ จูเก๋อกุย ขุนนางตงฉินของพระเจ้าเหี้ยนเต้ โดยขงเบ้งมีพี่ชาย และน้องชายอย่างละคน คือ จูเก๋อกึ๋น พี่ชาย เป็นที่ปรึกษาของง่อก๊ก และน้องชาย จูเก๋อจิ๋น


ขงเบ้ง เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่อง รอบรู้สรรพวิชาอย่างแตกฉาน ทั้งวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ การเมืองการปกครอง การทูต และแม้กระทั่งไสยศาสตร์ มีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น มีเมตตา ชอบลองดีกับผู้ที่อวดโอ้ อุดมด้วยวาทะศิลป์ ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบกับชาวบ้าน ที่เชิงเขาโงลังกั๋ง โดยช่วยเหลือชาวบ้านในการทำนาต่าง ๆ จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ขงเบ้งมักจะเสวนากับผู้รู้เสมอ ๆ โดยเพื่อนร่วมวงเสวนากับเขานั้นได้แก่ ชีซี สื่อกวงเหวียน เมิ่งกงเวย และซุยเป๋ง และขงเบ้งมักจะยกตัวเองเทียบกับขวันต๋งและงักเย สองยอดนักปราชญ์ยุคชุนชิวและราชวงศ์ฉิน ซึ่งเพื่อน ๆ มักแปลกใจที่ขงเบ้งกล้ายกตนเช่นนั้น มีแต่ชีซีและซุยเป๋งเท่านั้น ที่เชื่อว่าไม่ได้เป็นการยกตนเกินเลยไปเลย


ขงเบ้ง มาเป็นกุนซือให้เล่าปี่จากการได้รับคำแนะนำจากชีซี โดยเล่าปี่ต้องมาคาราวะขงเบ้งถึงกระท่อมไม้ไผ่ ที่เขาโงลังกั๋ง ถึง 3 ครั้ง 3 ครา เมื่อขงเบ้งอายุได้เพียง 26 แต่ระยะแรกนั้น ขงเบ้งมิได้เป็นที่ยอมรับของบรรดานายทหารจ๊กก๊ก รวมทั้งกวนอูและเตียวหุยด้วย แต่เมื่อขงเบ้งได้แสดงฝีมือให้ปรากฏด้วยการทลายทัพของโจโฉที่เนินพกบ๋องแล้ว ขงเบ้งก็กลายเป็นที่นับถือและเลื่องลือถึงความสามารถอันปราดเปรื่อง


ขงเบ้ง ยามออกศึก จะบัญชาการการรบบนรถเลื่อน โดยมีหมวกและพัดขนห่านเป็นของประจำตัว ขงเบ้งเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชาอย่างถ่องแท้ มองจิตใจคนทะลุปรุโปร่ง ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ จึงสามารถล่วงรู้ได้ถึงสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถเรียกลมได้ ผู้คนจึงกล่าวขานว่า เป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้า


ขงเบ้ง เป็นกำลังสำคัญของแคว้นจ๊กก๊ก ภายหลังการสิ้นของเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ผู้นำคนสำคัญ โดยขงเบ้งมีฐานะเป็นเสนาบดีใหญ่ (เสิงเสี้ยน) ดูแลกิจการแทบทุกอย่างของจ๊กก๊ก เนื่องจากความอ่อนแอของพระเจ้าเล่าเสี้ยน (อาเต๊า) ขงเบ้งประสบความสำเร็จจากการยกทัพไปปราบเบ้งเฮ็ก อานารยชนที่แดนใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยในการยกทัพบุกเหนือถึง 5 ครั้ง เพื่อพิชิตแคว้นวุยก๊ก


บั้นปลายชีวิต ขงเบ้งเจ็บออด ๆ แอด ๆ เสมอ ๆ ขงเบ้งสิ้นอายุเมื่อได้ 54 ปี(ขงเบ้งฉบับการ์ตูนบอกว่าสิ้นอายุเมื่อตอน 52 ปี) บนรถม้ากลางสนามรบ


ในหนังสือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เขียนไว้ดังนี้ ครั้นเวลาค่ำ ขงเบ้งอุตส่าห์เดินออกไปดูอากาศ เห็นดาวสำหรับตัว มันเศร้าหมองกว่าแต่ก่อน ก็ยิ่งตกใจเป็นอันมาก จึงพาเกียงอุยเข้าไปที่ข้างในแล้วว่า “ชีวิตเรานี้ เห็นที่จะตายในวันพรุ่งนี้แล้ว” เกียงอุยได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ จึงถามว่า “เหตุใดมหาอุปราชจึงว่า ฉะนี้” ขงเบ้งจึงว่า “เราพิเคราะห์ดูอากาศ เห็นดาวสำหรับตัวเราวิปริต จึงรู้ว่าสิ้นอายุแล้ว” เกียงอุยเสนอให้ขงเบ้งทำพิธีต่ออายุ ด้วยการตั้งโต๊ะบูชาเทพยดาและจุดโคมเสี่ยงทายอายุ ถ้าไฟโคมยังสว่างไสวตลอดพิธี จะมีอายุยืนยาวได้อีกสองปี แต่ถ้าไฟโคมดับก่อนเสร็จพิธี ชีวิตก็จะสิ้นสุด ขงเบ้งคิดถึงภาระหน้าที่และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเล่าปี่ว่า จะรวบรวมแผ่นดินถวายคืนสู่ราชวงศ์ฮั่น จำต้องทำพิธีต่ออายุ


แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้น เมื่อนายพลอุยเอี๋ยนผลีผลามเข้ากระโจม เพื่อรายงานว่าสุมาอี้ส่งทัพมาท้ารบ ได้เตะเอาโคมเสี่ยงทายล้ม ไฟโคมดับ เรื่องการดูดาวประจำตัวนั้น ขงเบ้งรู้ แต่สุมาอี้ก็รู้ สุมาอี้ต้องการยืนยันความรู้ของตนว่า ขงเบ้งใกล้ตายแล้วหรือไม่ ด้วยการส่งทัพมาท้ารบ ถ้าทัพขงเบ้งออกสู้ แสดงว่าขงเบ้งยังไม่เป็นอะไร ถ้าไม่สู้แสดงว่า ขงเบ้งแย่แล้ว จะได้ตีซ้ำบดขยี้ทัพขงเบ้งให้แหลกลาญ


ขงเบ้งรู้ทันความคิดแม้รู้ว่าชีวิตจะสิ้นยังคงสติได้ดี สั่งให้ทหารออกปะทะขับไล่ทัพสุมาอี้ถอยไปตามเดิม ถึงขงเบ้งลาลับดับโลก แต่ยังได้ทำพิธีรักษาดวงดาวประจำตัวไม่ให้ร่วงหล่นจากฟากฟ้า เป็นการขู่สุมาอี้ มิให้ตามโจมตีเวลาถอยทัพ ซึ่งอุบายนี้สามารถรักษาชีวิตทหารของตนได้หลายหมื่น และยังทำให้อาณาจักร จ๊กก๊ก (ของเล่าปี่) ยืนยาวอยู่ได้อีกกว่ายี่สิบปี


พระเจ้าเล่าเสี้ยนโศกเศร้าเสียพระทัยมาก ศพของขงเบ้งถูกฝังอยู่ที่เชิงเขาเตงกุนสัน ปากทางเข้าเสฉวน ภายหลังจากที่ขงเบ้งสิ้นชีวิตไปแล้ว 29 ปี เมื่อเตงงายแม่ทัพของวุยก๊กได้ยกทัพผ่านมาทางเขาเหยียดฟ้าปากทางเข้าเมืองเสฉวนอีกทาง ได้พบกับป้อมค่ายที่ร้างบนเขา ซึ่งปราศจากทหารดูแลเมื่อขงเบ้งสิ้นชีวิตไปแล้ว ซึ่งขงเบ้งทำนายว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีแม่ทัพของวุยก๊กยกทัพผ่านทางนี้ จึงให้เฝ้าระวังไว้


และเมื่อจงโฮยแม่ทัพวุยก๊กอีกคนที่ยกทัพผ่านมาทางเขาเตงกุนสัน นอนหลับไปฝันเห็นว่า ขงเบ้งมาเข้าฝันว่า เมื่อยกทัพเข้าเสฉวนได้แล้ว ขอให้ไว้ชีวิตราษฎร ซึ่งจูกัดเอี๋ยนบุตรชายของขงเบ้งที่เป็นแม่ทัพคนหนึ่งของจ๊กก๊กได้เข้าต่อต้านทัพวุยและก็เสียชีวิตพร้อมบุตรชายตัวเองในครั้งนี้ด้วย ปัจจุบัน มีศาลเจ้าขงเบ้งและเล่าปี่ กวน อู เตียวหุย และบรรดาขุนพลของจ๊กก๊ก ที่เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน ซึ่งได้รับการบูรณะในปีที่ 11 ของรัชสมัยจักรพรรดิคังซีของราชวงศ์ชิง


เล่าปี่ (หลิวเป้ย) - Liu Bei - 劉備


เล่าปี่ หรือ หลิวเป้ย ถ้าอ่านตามสำเนียงจีนกลาง (จีนตัวเต็ม: 劉備; จีนตัวย่อ: 刘备; พินอิน: Liú Bèi) (ค.ศ. 161-ค.ศ. 223) เป็นขุนศึกที่มีอำนาจในยุคสามก๊กของประเทศจีน และเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งจ๊กก๊ก
ประวัติ
เล่าปี่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ฮั่น โดย จงซานจิ้งอ๋องผู้เป็นโอรสของพระเจ้าฮั่นเก้งเต้กษัตริย์เเห่งราชวงศ์ฮั่น ในลำดับอาลักษณ์ราชวงศ์ฮั่น เล่าปี่มีศักดิ์เป็น เสด็จอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ จึงทรงมีราชโองการเเต่งตั้งให้มีตำเเหน่งทางเชื้อพระวงศ์เป็นพระเจ้าอา ส่วนตำเเหน่งทางการเมืองดำรงตำเเหน่งขุนพลฝ่ายซ้าย
รูปพรรณสันฐาน เป็นคนผิวขาว หน้าขาวดังหยวก ตาเรียวเล็กสามารถมองถึงใบหู แววตาแจ่มใส หูยาวถึงบ่า ปากแดงดังชาดบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดี แขนยาวถึงเข่า
เดิมเป็นคนยากจน มีอาชีพทอเสื่อขาย ได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกับ กวนอู เตียวหุย ที่สวนดอกท้อ เพื่อปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง เมื่ออายุได้ 28 ปี โดยเป็นพี่ชายคนโต นิสัยมีน้ำใจดีงาม เป็นที่รักใคร่แก่คนทั่วไปใช้กระบี่คู่เป็นอาวุธคู่กาย ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองชีจิ๋วหลังจากการของโตเกี๋ยม แล้วก็ภายหลังเสียเมืองซีจี๋วต้องหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยเจ้าเมืองต่าง ๆ อยู่ต้องคอยอาศัยเมืองต่าง ๆ อยู่ไม่ว่าซีจิ๋วที่ถูกลิโป้ยึดครอง ฮูโต๋ที่ไปอาศัยโจโฉอยู่
ฮ่องแต่ได้แต่งตั้งเป็นพระเจ้าอา หวังช่วยเป็นเรี่ยวแรงให้ฮ่องเต้ แต่โจโฉคิดปองร้ายจึงหาทางออกจากลกเอี๋ยงเมืองหลวง ไปกิจิ๋วของอ้วนเสี้ยวครั้งที่ซีจิ๋วโดนโจโฉตีแตกและยังหนีไปอาศํยอยู่กับเล่าเปียวที่เกงจิ๋ว จนได้ขงเบ้ง เป็นที่ปรึกษา จึงได้เริ่มฟื้นตัวเพื่อการกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นอีกครั้ง โดยร่วมมือกับซุนกวนแห่งง่อก๊ก ปราบปรามกองทัพ 1 ล้านของโจโฉ โดยโดนยุทธวิธีไฟของจิวยี่ เผาเรือรบและทหารต้องตายหลายแสน จนโจโฉต้องหนีเอาตัวรอดอย่างน่าเวทนา ระหว่างหลบหนีได้หัวเราะว่าจิวยี่และขงเบ้งไม่ได้เก่งสมคำล่ำลือ ถ้าเป็นเขาเองจะซุ่มทหารไว้ แล้วก็ได้หัวเราะแบบนี้ถึงสามครั้งสามสถานที่ แต่แล้วต้องกลของขงเบ้งที่ให้ทหารไปซุ่มรอทั้งจูล่ง เตียวหุย กวนอู และได้วานขอชีวิตต่อกวนอู เพราะโจโฉก็เคยไว้ชีวิตกวนอูและเลี้ยงดูอย่างดี สุดท้ายโจโฉเหลือทหารเพียงหยิบกำมือกลับเมือง หลังจากยุทธการนี้เล่าปี่ได้ยึดเมืองและขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง ได้แม่ทัพ และกุนซืออีกมากมาย จิวยี่ได้ใช้กล ให้แต่งกับซุนฮูหยินน้องสาวของซุนกวน เป็นอีก 1 ตำนานของบุรุษสตรีงามคู่กัน แต่ขงเบ้งก็แก้กลได้

เล่าปี่มีเหล่าแม่ทัพผู้จงรักภักดีมากมาย มีทั้งขงเบ้ง ฉายามังกรหลับและบังทอง ฉายาหงส์ดรุณ สองกุนซือดังแห่งยุคช่วยเหลือภายหลัง สามารถครอบครองดินแดนเสฉวนได้ในชื่อว่าจ๊กก๊ก
ในภายหลังจากที่กวนอูเสียท่าแก่ลิบอง และลกซุน แห่งง่อก๊กก็ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองราชย์ที่เสฉวนได้ 3 ปีตามคำร้องขอของเสนาธิการของตน ออกพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิเจียงบู๊เต้ ก็ยกทัพไปเพื่อล้างแค้นให้กวนอู แต่เตียวหุยก็ยังโดนลอบสังหารจนถึงแก่ความตาย ยิ่งทำให้เล่าปี่คิดแต่จะล้างแดนง่อแต่ก็โดนวางเพลิงโดยลกซุน จนต้องหนีตายไปป่วยและเสียชีวิตที่เมืองปักเต้ ด้วยอายุ 63 ปี บุตรชายคนโต ชื่อ เล่าเสี้ยน (อาเต๊า) ได้ขึ้นครองราชต่อ แต่เป็นคนไม่มีสติปัญญา เชื่อฟังขุนนางชั่ว ขันทีโฉด สุดท้ายต้องเสียดินแดนให้ วุ่ยก๊ก

เล่าปี่ถือได้ว่าเป็นตัวละครเอกในเรื่องสามก๊ก โดยล่อกวนตง มีลักษณะของผู้มีคุณธรรมอย่างเต็มเปี่ยม ไม่เคยคิดเอาเปรียบใคร ไม่เคยใช้เล่ห์กลในทางมิชอบ ซึ่งตรงข้ามกับโจโฉ โดยสิ้นเชิง เป็นผู้ที่นบน้อมต่อคนทุกชนชั้น จึงได้รับการเรียกขานจากยาขอบว่า "ผู้ไหว้ทั้งสิบทิศ"

โจโฉ (เฉาเชา) - Cao Cao - 曹操


โจโฉ (จีน: 曹操 พินอิน: Cáo Cāo เวด-จิลส์: Ts'ao² Ts'ao¹) มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 155 - ค.ศ. 220 เป็นขุนศึกและผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนสุดท้าย ในราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของประเทศจีน ในภายหลังโจโฉได้ก่อตั้งวุยก๊ก ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอาณาจักรของยุคสามก๊ก

ในวรรณคดีเรื่องสามก๊กบางสำนวน โจโฉได้รับการบรรยายให้เป็นกษัตริย์ที่โหดเหี้ยมและทะเยอทยาน แต่ตามประวัติศาสตร์แล้ว โจโฉเป็นผู้ปกครองที่สามารถ นักการทหารที่ชาญฉลาด และยังเป็นกวีอีกด้วย ในสามก๊ก โจโฉแม้จะเป็นคนโหดเหี้ยม เจ้าเล่ห์ แต่ก็หาใช่ว่าเป็นคนไร้เหตุผล ตรงกันข้ามยังเป็นคนผูกใจคนเก่ง ชอบใช้คนมีความสามารถ รู้จักใช้คน บริหารจัดการเก่ง มีความเป็นผู้นำสูง และออกอุบายวางแผนได้ด้วยตนเอง ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวว่า "ยิ่งอ่าน ยิ่งรักน้ำใจโจโฉ" และเป็นที่ของหนังสือที่ชื่อ โจโฉ นายกฯตลอดกาล ที่ว่าด้วยการมองโจโฉในอีกแง่ และให้ฝ่ายจ๊กก๊ก ของเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย เป็นตัวร้ายแทน

ประวัติการสงครามของโจโฉ
เริ่มต้น โดยเป็นหนึ่งในแม่ทัพของฝ่ายราชวงศ์ฮั่นที่ออกปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลืองซึ่งมี "เตียวก๊ก" เป็นหัวหน้า ซึ่งมี พระเจ้าเลนเต้เป็นจักรพรรดิ โจโฉ มีชื่อรองว่า เมิ่งเต๋อ เป็นบุตรของโจโก๋ อดีตข้าหลวงในวัง เดิมมิได้แซ่ "โจ" แต่แซ่ "แฮหัว" โจโฉในวัยเด็กเป็นคนไม่เอาไหน มีรูปร่างเล็ก หนวดยาว ฉลาดแบบเจ้าเล่ห์ เก่งในการเอาตัวรอด เชี่ยวชาญตำราพิชัยสงคราม แต่ก็ชื่นชอบในศิลปะ อุปนิสัยรอบคอบ โจโฉได้รับความดีความชอบในการปราบโจรโพกผ้าเหลือง แต่ท้ายสุดถูกหักหลัง ต่อมาเมื่อตั๋งโต๊ะเป็นใหญ่ โจโฉก็ร่วมมือกับเจ้าเมือง 18 หัวเมืองตั้งเป็น "กองทัพสิบแปดหัวเมือง" โดยมี อ้วนเสี้ยวเป้นแม่ทัพใหญ่ ปราบตั๋งโต๊ะ ระหว่างหลบหนีจากการผิดพลาดในการสังหารตั๋งโต๊ะ โจโฉได้พบกับนายอำเภอคนหนึ่งชื่อ ตันก๋ง ระหว่างพักค้างแรม โจโฉได้สังหารแป๊ะเฉีย และคนในครอบครัว ด้วยเข้าใจผิดในความปรารถนาดีของแป๊ะเฉียที่จะฆ่าหมูมาเลี้ยง ความโหดเหี้ยมของโจโฉจึงปรากฏในตอนนี้ โจโฉได้กล่าววาจาที่แสดงถึงตัวตนของเขาได้ชัดเจนว่า "ข้ายอมทรยศคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้ใครทรยศข้า"
เมื่อโจโฉตั้งตัวได้ ก็กล้าที่จะปลอมราชโองการ กล้าที่จะแอบอ้างราชโองการเพื่อที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้าม ทำให้ในที่สุด โจโฉได้รับการสถาปนาเป็นสมุหนายก หลังจากนั้น ก็ มหาอุปราช(ไจเสี่ยง) มีอำนาจสามารถสั่งการแทนฮ่องเต้ ทำให้มีอำนาจล้นฟ้า ไม่มีใครที่จะคานอำนาจ จึงกล้าถึงขนาดทดสอบบารมีของพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วย จนพระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องแอบเขียนหนังสือลับด้วยโลหิตตนเองถึงเล่าปี่ ให้จัดการกับโจโฉที่ทำตนเป็นตั๋งโต๊ะอีกคน

โจโฉ ได้ครองเมืองลกเอี๋ยง ซึ่งเป็นเมืองหลวง ทำให้แคว้นวุยก๊กของเขาเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุด มีไพร่พลมากที่สุด มีบุคลากรมากที่สุด มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์มากที่สุด โจโฉเป็นคนที่หลงมัวเมาในอำนาจและกิเลสตัณหาต่าง ๆ มักมากในกาม มีภรรยาและสนมมากมาย สมัยรุ่งเรือง โจโฉได้สร้างตำหนักของตนชื่อว่า "นกยูงทองแดง" โจโฉเป็นคนรอบคอบเสียจนกลายเป็นขี้ระแวง ได้สั่งประหารบุคคลสำคัญไปหลายคน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความผิด เพราะความขี้ระแวงของตน และเมื่อสำนึกได้ ก็มักมาเสียใจในภายหลัง

โจโฉ มีภรรยา 3 คน กับภรรยาคนแรกไม่มีบุตร ภรรยาคนที่สอง มีบุตรเพียงคนเดียวเป็นชาย ชื่อ โจงั่ง ตายเมื่อครั้งสงครามกับเตียวสิ้ว กับภรรยาคนที่สาม คือ นางเปียนสี มีบุตรชายทั้งหมด 4 คน คือ โจผี โจเจียง โจสิด และ โจหิม ซึ่งโจโฉรักภรรยาคนนี้มาก ยกให้เป็นภรรยาหลวง

โจโฉ ในบั้นปลายชีวิต ป่วยเป็นโรคประสาท มักปวดหัวอยู่เสมอ ๆ เมื่อหมอฮูโต๋(ฮัวโต๋)หมอชื่อดังแห่งยุคมารักษา หมอฮูโต๋ได้เสนอให้ผ่าศีรษะ ซึ่งก็คือการผ่าตัด ถือว่าเป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยมาก แต่โจโฉไม่เข้าใจ หาว่าคนจะผ่าศีรษะโดยไม่ตายได้อย่างไร จึงพาลจองจำหมอฮูโต๋ในคุก เมื่ออาการหนักขึ้นก็เห็นภาพหลอน ก่อนตาย โจโฉเห็นหัวที่ถูกตัดแล้วของกวนอูลืมตาขึ้นได้ จึงละเมอว่ากวนอูจะมาเอาชีวิต โจโฉสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 66 ปี (บ้างก็ว่าโจโฉตายด้วยโรคกามโค) และภายหลังการสิ้นของโจโฉ โจผี ลูกชายคนรองก็ขึ้นมา และถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกจากตำแหน่ง และสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าโจผี ราชวงศ์วุย และยกย่องโจโฉบิดาของตนขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์วุย